หัวเรื่อง : ประเพณีกองข้าวศรีราชา |
สื่อสำหรับบุคคลประเภท :
ครู / อาจารย์, นักเรียน / นักศึกษา, ทั่วไป, ผู้ปกครอง |
ผู้สร้างสรรค์/ผู้แต่ง/เจ้าของผลงาน : ชัยยศ ปานเพชร |
เจ้าของผลงานร่วม :
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา, คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค |
คำสำคัญ :
ประเพณีกองข้าว, ศรีราชา, ชลบุรี, กองข้าว, ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม, ศรีราชา, ชลบุรี, ความเป็นอยู่และประเพณี |
คำอธิบาย : ประเพณีกองข้าว เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวชลบุรีจัดขึ้นในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเมือง อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ้านบึง อำเภอเกาะสีชัง เป็นต้น เนื่องจากชาวชลบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการประมงทางทะเล จึงมีการดำรงชีวิตและวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับทะเล มีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ เทวดาอารักษ์ เจ้าป่าเจ้าเขา และพระแม่คงคา ชาวประมงจะออกเรือประมงหาปลาต้องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้ง เพื่อคุ้มครองภัยจากธรรมชาติ จากความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้ชาวบ้านร่วมกันเซ่นไหว้ทูตผีปีศาจปีละครั้งบริเวณชายหาด ประวัติกล่าวว่าประเพณีกองข้าว นิยมจัดขึ้นหลังวันสงกรานต์เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีกองข้าวบางพื้นที่ได้เลิกปฏิบัติ เท่าที่ยังมีปรากฏอยู่ คือ เทศบาลเมืองศรีราชาเพียงแห่งเดียว และได้พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูมาตราบจนทุกวันนี้ ประเพณีกองข้าวศรีราชา ตามที่ผู้สูงอายุหลายท่านกล่าวว่า ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานแล้ว เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายราศีเข้าสู่ปีใหม่ ที่เรียกว่า สงกรานต์ล่วงไปประมาณ 3-4 วัน ให้ชักชวนเพื่อนบ้านนำลูกหลานมารวมกันในเวลาแดดร่มลมตก อาหารคาวหวานและอาหารพื้นบ้าน เช่น ฮื่อแช่ ก๋วยเตี๋ยวบก ปิ้งงบ แจงลอน ขนมเต่า ขนมก้นถั่ว ฉาบไข่แมงดา เป็นต้น ไปรวมกันที่ชายทะเล แล้วแต่ละบ้านแบ่งอาหารคนละเล็กละน้อยใส่กระทงใบตอง ไปวางรวมกันบริเวณริมหาด แล้วจุดธูปคนละ ๑ ดอกแล้วกล่าวร้องเชิญภูตผีปีศาจที่สิงสถิตบริเวณหาด ผีไม่มีญาติที่หิวโหยมากินอาหารที่นำมากองไว้เชื่อว่าเมื่อภูตผีปีศาจอิ่มหมีพีมันแล้วท่านจะได้ไม่มารบกวน ทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัย และไม่เกิดภัยธรรมชาติ จึงเรียกว่า พิธีกองข้าวบวงสรวง หลังจากนั้นชาวบ้านที่มารวมกัน เซ่นไหว้ทูตผีปีศาจนั่งรอจนกว่าธูปจะหมด 1 ดอกแล้วกล่าวลาขอพรเสร็จแล้วก็จะตั้งวงรวมกันรับประทานอาหารที่เตรียมมาหากมีอาหารเหลือให้นำกองไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์ ห้ามนำอาหารที่เหลือกลับบ้านเด็ดขาด ผู้สูงอายุของชาวศรีราชา เล่าว่า การจัดพิธีกองข้าวตั้งแต่สมัยก่อนจะจัดบริเวณแหลมฟาน แหลมท้าวเทวา และบริเวณริมเขื่อน หน้าบ้านนายอำเภอ ทั้ง 3 แห่งจะจัดเรียงกันไป เป็นเวลา 3 วัน ต่อมาย้ายมาจัดบริเวณสำนักงานเทศบาลเพียงแห่งเดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยจัดเป็นงานใหญ่ มีการละเล่นพื้นบ้าน แต่ชาวบ้านริมทะเลอยู่เหมือนเดิมแล้วจึงมาร่วมจัดพิธีที่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาล และปัจจุบันประเพณี กองข้าวศรีราชาได้จัดขึ้นบริเวณสวนสุขภาพ (เกาะลอยศรีราชา) พิธีกรรมและขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้ 1. งานเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙-๒๑ เมษายน จะจัดการละเล่นพื้นบ้านในภาคเช้า บ่ายจะจำหน่ายอาหารพื้นบ้านเป็นซุ้มโดยชาวบ้านในชุมชน อาหารทุกชนิดใช้ภาชนะเป็นกระทงใบตอง ตอนเย็นจะมีพิธีเปิดงานประเพณีกองข้าว มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม 2. เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ข้าราชการ พนักงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนชาวศรีราชาจะสวมเสื้อคอกลมลายดอกทุกวัน 3. สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ให้ความร่วมมือเปิดเพลงประเพณีกองข้าวศรีราชา ประเพณีกองข้าวศรีราชา ในปัจจุบันได้กำหนดให้การประกอบพิธีบวงสรวง จัดทำศาลเพียงตา เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ขนมต้มข้าว ขนมต้มแดง อาหารคาวหวาน ประจำท้องถิ่น คือ ฮือแช่ ก๋วยเตี๋ยวบก งบปิ้ง ขนมเต่า นมกับถั่ว ข้าวสวย และมีบายศรีปากชาม พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทพเทวดาอารักษ์ และภูตผีปีศาจเพื่อมารับเครื่องเซ่นไหว้ โดยจุดธูปคนละ 9 ดอก เซ่นไหว้ร่วมกันเมื่อเสร็จพิธีก็ทำบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จพิธีเชิญทุกคนร่วมกันรับประทานอาหารและชมการแสดงประเพณีกองข้าวศรีราชามีพิธีกรรม ขั้นตอน การปฏิบัติที่ควรแก่การอนุรักษ์เป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ลูกหลานเป็นผู้ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สร้างความสามัคคีให้ทุกคนในชุมชน มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอนุรักษ์อาหารพื้นบ้าน สร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างเอกลักษณ์ให้กับชาวศรีราชาให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและมีแห่งเดียวในประเทศไทย การสวมเสื้อคอกลมลายดอกใส่เทศกาลประเพณีสงกรานต์และประเพณีกองข้าว จากสภาพปัจจุบัน ศรีราชาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ จึงทำให้ศรีราชามีสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทศบาลเมืองศรีราชามีขนาดพื้นที่เล็กแต่มีผู้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น บางพื้นที่ของศรีราชาเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่น และนอกจากนั้นยังมีผู้ใช้แรงงานจากต่างจังหวัดมาอาศัยอยู่เพื่อประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก ทำให้สภาพชุมชนเปลี่ยนจากชุมชนชาวประมงเป็นชุมชนเมือง อาชีพประมงลดน้อยลงมาทำงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจลดน้อยลงจึงทำให้ความสำคัญของประเพณีกองข้าวลดน้อยลง การประกอบอาชีพเดิมของคนในท้องถิ่น ก็เปลี่ยนไปตามสภาพของสังคมปัจจุบัน |
จำแนกตามระดับชั้น :
ปฐมวัย, ประถมศึกษาปีที่ 1 (ป. 1), ประถมศึกษาปีที่ 2 (ป. 2), ประถมศึกษาปีที่ 3 (ป. 3), ประถมศึกษาปีที่ 4 (ป. 4), ประถมศึกษาปีที่ 5 (ป. 5), ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป. 6), มัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม. 1), มัธยมศึกษาปีที่ 2 (ม. 2), มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม. 3), มัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม. 4), มัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม. 5), มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม. 6), ปริญญาตรี , ปริญญาโท, ปริญญาเอก, ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) , ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.), ประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) , การศึกษาตามอัธยาศัย |
จำแนกตามสาขาวิชาของสื่อ :
สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม |
จำแนกตามลักษณะของสื่อ :
รูปภาพ |